21 ก.พ. 2553

โครงการแก้มลิง

โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
พระราชดำริ
สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงใน พ.ศ. 2538 อันเป็นผลที่เกิดจากฝนตกหนัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลาก ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งเกิดสภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่หลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นระยะเวลานานกว่า 2 เดือน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับความ เดือดร้อนจากสภาวะน้ำท่วม ที่เกิดขึ้น จึงทรงศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาพร้อมทั้งได้พระราชทานแนวทางดำเนินการเป็นระยะ ๆ ตลอดช่วงวิกฤตการณ์ เพื่อให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไปช่วยเหลือทั้งปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าและการวางแผนแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหนึ่งที่สนองแนวพระราชดำริในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยพระปรีชาสามารถ อันล้ำเลิศ กอปรกับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ จึงบังเกิดเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ "โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา" โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีลักษณะงานเป็นการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณชายทะเล ซึ่งเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงต่ำกว่าระดับน้ำในคลองก็จะระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยวิธีใช้แรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity) และสูบน้ำออกเพื่อให้น้ำในคลองพักน้ำที่มีระดับต่ำที่สุด ซึ่งจะทำให้น้ำจากคลอง ตอนบนไหลลงสู่คลองพักน้ำได้ตลอดเวลาแต่เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในคลองก็จะปิดประตูระบายเพื่อไม่ให้น้ำไหล ย้อนกลับ
แนวทางโครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัส อธิบายว่า "ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอก แล้วเอาเข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปไว้ที่แก้ม ลิงจะเอากล้วยเข้าไปไว้ ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปเก็บไว้ในแก้มก่อน แล้วจึงนำออกมาเคี้ยวบริโภคและกลืนกินเข้าไปภายหลัง" ด้วยพฤติกรรมการนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนกินนี้จึงเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำ มาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณด้านฝั่งตะวันออกและด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
จากแนวพระราชดำริข้างต้น กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาและพิจารณากำหนดรูปแบบของโครงการแก้มลิงออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
จะรับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร มาตามคลองสายต่าง ๆ ไปลงคลองชายทะเล เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลทางจังหวัดสมุทรปราการ
ลักษณะงานประกอบด้วย งานขุดลอกคลอง งานกำจัดวัชพืช งานก่อสร้างและปรับปรุงสถานีสูบน้ำ งานก่อสร้างประตูระบายน้ำ และงานปรับปรุงบำรุงคันกั้นน้ำซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว ได้แก่ - งานขุดลอกคลองในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ รังสิตใต้ คลองด่าน และพระองค์ไชยานุชิตจำนวน 60 สาย ความยาว 557.12 กิโลเมตร
- งานกำจัดวัชพืชในทุกโครงการมีการขุดลอกจำนวน 41 สาย ความยาว 520.94 กิโลเมตร
- งานก่อสร้างและปรับปรุงสถานสูบน้ำ รวม 11 แห่ง
- งานก่อสร้างประตูระบายน้ำ 3 แห่ง
- งานปรับปรุงคันกั้นน้ำ 2 แห่ง
โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
จะรับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพมหานคร และสมุทรสาคร ไปลงคลองมหาชัย-คลองสนามชัยและแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร
ลักษณะงาน ประกอบด้วย งานขุดลอกคลอง งานกำจัดวัชพืช งานก่อสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมติดตั้งสถานีสูบน้ำ ได้แก่
- งานขุดลอกคลองในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ดบางยี่หน พระยาบรรลือ พระพิมลและภาษีเจริญจำนวน 51 สาย ความยาว 278.64 กิโลเมตร
- งานกำจัดวัชพืชในทุกโครงการที่มีการขุดลอกจำนวน 31 สาย ความยาว 329.56 กิโลเมตร
- งานก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมติดตั้งสถานีสูบน้ำ จำนวน 5 แห่ง
โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย" ประกอบด้วยการก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นคลองต่าง ๆ พร้อมสถานีสูบน้ำตามความจำเป็นและก่อสร้างระบบให้เชื่อมกับโครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"
โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ประกอบด้วยงานก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมด้วยสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำท่าจีน บริเวณเหนือที่ตั้งจังหวัดสมุทรสาคร ขึ้นไปไม่มากนัก เพื่อทำหน้าที่ควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน โดยเปิดระบายน้ำให้ไหลลงสู่อ่าวไทย เมื่อน้ำทะเลมีระดับต่ำกว่า ระดับ น้ำในแม่น้ำ และจะปิดกั้นไม่ให้น้ำด้านท้ายไหลย้อนกลับเข้าไปในแม่น้ำเมื่อน้ำทะเล มีระดับสูง ขณะเดียวกันก็เร่งระดม สูบ ระบายน้ำ ออกสู่อ่าวไทยโดยสถานีสูบน้ำ
การดำเนินงานโครงการ
งานขุดลอกและกำจัดวัชพืชในเขตโครงการชลประทานทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2538 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2539
งานก่อสร้างและปรับปรุงระบบระบายน้ำในเขตพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2538 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2539
โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย" ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัท ที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวางโครงการผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำรวจ-ออกแบบแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2539 มีกำหนดระยะเวลาการศึกษา 1 ปี
โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนกันยายน 2539 ระยะเวลาการศึกษา 8 เดือน โดยเมื่อผลการศึกษามีความเหมาะสมจะได้เร่งดำเนินการจ้างที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบ รายละเอียดต่อไป
โครงการก่อสร้างแก้มลิงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย" (ชั่วคราว)
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสให้คณะกรรมการ อำนวยการ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามพระราชดำริ ให้เร่งเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้าน ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยหากทำการก่อสร้างโครงการแก้มลิงอย่างถาวรไม่ทัน ก็ขอให้ก่อสร้างประตูระบายน้ำ เป็นการชั่วคราวไปก่อน
วันที่ 9 กรกฎาคม 2539 คณะอนุกรรมการศึกษาและกำหนดแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามพระราชดำริ ได้ประชุมพิจารณาเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในฤดูฝน พ.ศ. 2539 และมีมติให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการก่อสร้างทำนบปิดกั้นคลองระบายต่าง ๆ ในคลองมหาชัย-คลองสนามชัย พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำเป็นการชั่วคราว และติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามบริเวณต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยเน้นพื้นที่ตามแผนงานโครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย" และพื้นที่ต่อเนื่อง
กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการก่อสร้างทำนบชั่วคราวปิดกั้นในคลองมหาชัย-คลองสนามชัย พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำ รวมทั้งคลองสาขาต่าง ๆ คือ ประตูระบายน้ำคลอง สหกรณ์สาย 3 ประตูระบายน้ำคลองเจ๊ก ประตูระบายน้ำคลองโคกขาม ประตูระบายน้ำคลองแสมดำและประตูระบายน้ำคลองแสมดำใต้ โดยเริ่มขนย้ายเครื่องจักรเครื่องมือและวัสดุก่อสร้างเข้าเตรียมงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2539 และดำเนินการแล้วเสร็จวันที่ 16 กันยายน 2539
เมื่อก่อสร้างเสร็จ โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย" (ชั่วคราว) จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำตามคู คลองธรรมชาติต่าง ๆ ในช่วงฤดูฝน และป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มมิให้ไหลเข้าไปในแม่น้ำลำคลองและพื้นที่การเกษตร รวมทั้งสามารถเก็บกักน้ำจืดไว้ด้านเหนือประตูระบายน้ำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น